วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ
ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ความเป็นมา
จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีสภาพเหมาะสมในการปลูกมะพร้าวเป็นอย่างยิ่ง และเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามมีการปลูกมะพร้าวกันมานานนับ 100 ปีแล้ว เริ่มแรกก็จะเป็นการปลูกมะพร้าวพันธุ์ผลใหญ่หรือมะพร้าวใหญ่ สำหรับเก็บผลต่อมาก็มีการเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งป้าเปรื่อง มรรคทรัพย์ เกษตรกรตำบลคลองเขิน อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม อายุ 83 ปี เล่าความเป็นมาของการทำน้ำตาลมะพร้าวให้ฟังว่า สมัยก่อนเนื่องจากมีการปลูกมะพร้าวกันมาก วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มขึ้นต้นมะพร้าวแล้วเอามีดไปฟันจั่นหรือช่อดอกมะพร้าวเล่น ต่อมาเห็นมีน้ำไหลออกมาจากจั่นจึงเอานิ้วลองจิ้มดูดชิม ปรากฏว่ามีรสหวานดีจึงนำเอาภาชนะมารองรับน้ำที่หยดจากจั่นมะพร้าว ปรากฏว่าได้น้ำตาลสดมา 1 ขัน จึงนำมาต้มแล้วนำไปดื่มได้รสหวานอร่อยดี จึงทำอีก คราวนี้เอาน้ำตาลมาทดลองต้มอีกปรากฏว่าต้มจนน้ำตาลสดเดือดและลืมมาดู น้ำตาลจึงแข็งกลายเป็นตังเม กินก็อร่อยดี จึงนำมาทดลองทำอีกหลายครั้งจนกระทั่งได้พบสูตรการทำน้ำตาลมะพร้าวและมีกระบวนการผลิตน้ำตาลเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันนี้ก็จะมีองค์ความรู้มากมายจากการทำน้ำตาลมะพร้าว และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามวิถีชีวิตของชุมชน ได้แก่ การทำน้ำตาลเมาหรือกระแช่ ดื่มกันในเทศกาลต่างๆ ของชุมชนในสมัยก่อน ปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครทำแล้วการทำน้ำตาลมะพร้าวจึงมีประวัติความเป็นมาตามวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งวันนี้อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวก็จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีแก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่สำคัญอาชีพหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะพร้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Coco nucifera Linn เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่แหลมมาลายูไปจนถึงนิวกินี
ระบบรากเป็นรากฝอย ลำต้นเดี่ยว ใบรวมแบบขนนก ช่อดอกอยู่เหนือก้านใบ ติดกับลำต้น ชาวสวนมะพร้าวเรียกว่าจั่น ผลประกอบด้วยเปลือก 3 ชั้น คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นกลาง จนถึงกะลา เมล็ดคือส่วนทั้งหมดที่อยู่ในกะลา







พันธุ์มะพร้าวตาล
เป็นสายพันธุ์มะพร้าวที่ชาวสวนคัดเลือกมาจากต้นมะพร้าวปกติที่ให้ปริมาณน้ำตาลสดมาก สม่ำเสมอ จำนวนจั่นต่อปีมาก จั่นใหญ่เหนียวโน้มได้ง่าย พันธุ์มะพร้าวที่นิยมปลูกในจังหวัดสมุทรสงครามได้แก่ พันธุ์เท้งบ้อง พันธุ์สาริชา พันธุ์สายบัว และพันธุ์ทะเลบ้า
ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามก็ยังมีการคัดพันธุ์มะพร้าวมาเรื่อยๆ ได้แก่ พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมหรือพันธุ์มะพร้าวอ่อนน้ำหวานก็มีการคัดพันธุ์มาใช้ในการทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะน้ำตาลสดที่ได้หลังจากนำมาเคี่ยวแล้วจะได้น้ำตาลที่หวานมันและมีกลิ่นหอมและจำนวนจั่นต่อปีมีมากแต่มีข้อเสียคือจั่นเล็ก น้ำตาลต่อวันได้น้อย โดยมีนายบุญมาก ลิ้มไพบูลย์ เกษตรกรตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที ริเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าวน้ำหอมแล้วนำน้ำตาลมะพร้าวมาทำผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดบรรจุขวดและบรรจุกระป๋องจำหน่าย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดของน้ำตาลมะพร้าวอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งตลาดยอมรับเป็นอย่างดี

ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว
จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีการปลูกต้นมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยที่ยังมีการทำนาข้าวกันอยู่ ซึ่งในอดีตจะมีการทำนาข้าวอยู่ทั่วไปในจังหวัด และจะปลูกต้นมะพร้าวตามคันนา เพื่อใช้เป็นร่มเงาในการพัก
ร้อนในช่วงของการทำนา แต่ปัจจุบันการทำนาข้าวมีลดน้อยลง เพราะชาวบ้านหันมาทำสวนผลไม้และสวนมะพร้าวแทน อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้นก็ได้มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยที่มีการทำนาอยู่ คือในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาชาวบ้านก็จะทำน้ำตาลมะพร้าวกัน ซึ่งในสมัยก่อนขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น ค่อนข้างจะมีขั้นตอนมากกว่าในสมัยปัจจุบันนี้ และจะรองน้ำตาลเพียงครั้งเดียวคือเฉพาะน้ำตาลเช้า ซึ่งปัจจุบันจะรองน้ำตาลทั้งเช้าและเย็น หรือที่ชาวบ้านเรียกน้ำตาลช่วงเย็นว่า “น้ำตาลเที่ยง”
วัสดุอุปกรณ์
1. พะอง (ไม้ไผ่ใช้สำหรับขึ้นต้นมะพร้าว) ตาพะอง
2. กระทะ
3. กระบอกรอน้ำตาล เป็นไม้ไผ่ หรือพลาสติก หูกระบอก
4. ไม้พะยอม, ไม้เคี่ยม
5. มีดปาดตาล
6. ฟืน
7. เตาตาล
8. อุปกรณ์ที่ใช้บรรณจุ เช่น หม้อตาล, หม้อกานน, ปี๊บ, ถุงพลาสติก
9. ไม้วีน้ำตาล (ลวดกะทุ้งน้ำตาล)
10. ผ้ากรองน้ำตาล
11. โพงตักน้ำตาล
12. โคครอบน้ำตาล
13. เนียนปาดน้ำตาล
14. เสวียน (ที่รองกระทะ)
15. เครื่องปั่นน้ำตาลด้วยมอเตอร์
16. ไม้คานหาบกระบอก
17. ที่ล้างกระบอก
ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว
การเตรียมการ
ชาวสวนจะนำพะอง ไปพาดที่ต้น
มะพร้าวตาลเพื่อใช้ขึ้นไปเก็บน้ำตาลสด เลือก
จั่นที่เหมาะสมโดยการทดลองใช้มีดปาดที่
ปลายจั่น แล้วใช้มือเด็ดด้านข้างของจั่น หาก



น้ำตาลจะเดือด ใช้โคคลอบกันน้ำตาลล้น
แล้วเคี่ยวน้ำตาลต่อไปจนน้ำตาลงวด
งวดได้ที่แล้วเปิดโคคลอบออก และลดไฟ
ให้อ่อนลง



จากนั้นเตรียมหมุนกระทะ เพื่อไม่ให้น้ำตาลในกระทะไหม้ และดูน้ำตาลในกระทะเดือดเป็นลักษณะขึ้นดอกหมาก จึงยกกระทะลงวางบนเสวียน หรือล้อรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้กระทะโคลงเคลง ใช้ไม้วีน้ำตาลจนแห้งได้ที่







เทใส่ภาชนะ หรือหยอดใส่พิมพ์จนน้ำตาลเย็น จึงเก็บใส่หีบห่อเพื่อจำหน่ายต่อไป น้ำตาลสด 7 ปี๊บ จะเคี่ยวน้ำตาลได้ 1 ปี๊บ (30 ก.ก.)




















วิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ
ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้ตั้งโครงการน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ พร้อมทั้งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตรมีการรณรงค์การผลิตอาหารปลอดภัยสารพิษ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการเกษตรทุกคนมีการจัดการองค์ความรู้เรื่องการผลิตอาหารพืชผักผลไม้ปลอดภัยสารพิษตั้งแต่ฟาร์มของเกษตรกร ผ่านกระบวนการแปรรูปผลผลิตเกษตรจนถึงโต๊ะอาหารต้องมีกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยสารพิษทุกขั้นตอน
การทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษในจังหวัดสมุทรสงครามก็มีการจัดกระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ คือ
( 1 ) ความปลอดภัยสารพิษในการปลูกมะพร้าว
ต้องเป็นต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปลอดภัยจากการใช้สารเคมี เกษตรกรจะมีการใช้ปุ๋ยหมัก การขึ้นเลนเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือการใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์
การกำจัดศัตรูพืช ศัตรูของมะพร้าวได้แก่ ด้วงต่างๆ ในกระบวนการทำความสะอาดร่องสวน และการใช้เชื้อราเขียวป้องกันกำจัดหนอนด้วง และให้ความรู้เกษตรกรในการบำรุงรักษาต้นมะพร้าวให้สมบูรณ์แข็งแรง ศัตรูพืชก็จะไม่เข้าทำลาย การตรวจทำความสะอาดและตัดแต่งกิ่งตัดแต่งคอต้นมะพร้าวก็จะเป็นการช่วยกำจัดศัตรูมะพร้าวไปในตัว
มีวิธีคิดของคนทำสวนมะพร้าวให้ชาวสวนมะพร้าวได้ปฏิบัติตนในการทำสวนมะพร้าวคือ “รอยเท้าของเกษตรกรคือความเจริญงอกงามของต้นมะพร้าว” หมายถึง เกษตรกรต้องหมั่นดูแลสวนมะพร้าวของตนเองอย่างสม่ำเสมอย่อมสร้างความเจริญงอกงามแก่ต้นไม้ได้อย่างดี


( 2 ) ความปลอดภัยของการดูและจั่นมะพร้าว
จั่นมะพร้าว เกษตรกรจะต้องปาดเอาน้ำตาลมะพร้าวไปเคี่ยวเป็นน้ำตาลมะพร้าวทุกวัน และตรงจั่นมะพร้าวก็จะมีปัญหาจั่นมะพร้าวเป็นหนอนเพราะมีแมลงมาตอมจั่นแล้ววางไข่ไว้ทำให้เกิดเป็นตัวหนอน ทำให้น้ำตาลสดที่ได้สกปรก และบูดง่าย ได้น้ำตาลสดน้อย
วิธีแก้ไขแต่เดิมเกษตรกรจะใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมาโรยป้องกันแมลง ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในน้ำตาลมะพร้าว เป็นอันตรายมาก
วิธีการป้องกันที่ปลอดภัยจากสารพิษ มี 3 วิธีดังนี้ วิธีที่ 1 การใช้น้ำส้มควันไม้ไล่แมลงโดยการนำน้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นบริเวณโคนจั่นมะพร้าว แมลงจะเหม็นควันไฟ ไม่มาทำลายปลายจั่นมะพร้าวอีก แถม
เกษตรกรบางรายบอกว่ายังทำให้ได้น้ำตาลมากขึ้นและน้ำตาลมะพร้าวหวานขึ้นอีกด้วย นับเป็นวิธีที่ได้ผลและปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นพิษ
วิธีที่ 2 การป้องกันกำจัดแมลงมาตอมวางไข่ที่จั่นมะพร้าว ในเวลาปาดเอาน้ำตาลสด ก็คือ การใช้ลูกเหม็นหรือลูกกันสัตว์ประมาณ 2-3 ลูกใส่ถุงที่ทำจากมุ้งเจียวแขวนไว้ที่จั่นมะพร้าวก็จะป้องกันไม่ให้แมลงมาตอมหรือทำลายจั่นมะพร้าวได้ผลดี และปลอดภัยจากสารพิษเช่นกัน
วิธีที่ 3 การโน้มจั่นมะพร้าวหลังจากใช้มีดปาดจั่นแล้วให้โน้มจั่นลงในกระบอกรอน้ำตาล แมลงจะได้ไม่ตอมก็พอจะห้องกันแมลงทำลายจั่นและวางไข่ที่จั่นมะพร้าวได้ดีพอสมควรในการป้องกันกำจัดแมลงที่ปลอดภัยสารพิษ
ทั้ง 3 วิธีที่ผมได้ให้คุณไพบูลย์ ผลพูล เกษตรกรที่ทำน้ำตาลมะพร้าวตำบลคลองเขินไปทดลองใช้แล้วได้ผลดี
( 3 ) เทคนิคการปาดตาลให้น้ำตาลออกดี
ป้าเปรื่อง มรรคทรัพย์ เล่าให้ฟังว่าก่อนปาดจั่นทุกครั้งให้ใช้มีดตาลแตะบริเวณหน้าแผลกาดตาลก่อน เป็นการกระตุ้นให้เกสรกระทบกระเทือน จั่นมะพร้าวจะได้ไม่เกิดผลเล็กๆ เมื่อปาดตาลจะทำให้น้ำตาลออกดีขึ้น เรื่องนี้เป็นเทคนิคความเชื่อต้องพิสูจน์เองนะครับ
( 4 ) กระบวนการรอน้ำตาลมะพร้าวที่ปลอดภัยสารพิษ
การรอน้ำตาลมะพร้าวอุปกรณ์ในการรอน้ำตาลสดจะใช้วัสดุในท้องถิ่น คือ กระบอกไม้ไผ่โดยนำมาตัดเป็นปล้องๆ ละ 1 กระบอก เจาะปากกระบอกร้อยเชือกสำหรับแขวนหรือผูกกระบอกติดกับจั่นมะพร้าว และใช้สำหรับร้อยไม้คานหาบกระบอกน้ำตาลมะพร้าวมาที่เตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวต่อไป ซึ่งการดูแลความสะอาดปลอดสารพิษเกษตรกรชาวสวนตาลก็ทำได้ดี คือทุกครั้งที่จะนำกระบอกไม้ไผ่ไปรอน้ำตาลสดจะต้องนำกระบอกล้างในน้ำสะอาด และรวกน้ำร้อนเดือด และรมควันกระบอกก่อนนำไปรอน้ำตาล จะทำให้น้ำตาลมีคุณภาพดี มีความหอมหวาน แต่ปัจจุบันมีปัญหาเกษตรกรที่ทำน้ำตาลมากๆ จะรวกกระบอกไม่
ค่อยสะอาดเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาเชื้อราได้ และยังมีปัญหากระรอกเจาะกระบอกไม้ไผ่ และกัดกระบอกไม้ไผ่รั่วทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจึงเลิกใช้กระบอกไม้ไผ่
ต่อมามีการใช้กระบอกพลาสติกและขวดยาสารเคมีที่ล้างสะอาดแล้วมาใช้ก็มีคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เกษตรและเจ้าหน้าที่จากสาธารณะสุขว่าจะมีปัญหาสารตกค้างและสารปนเปื้อนจากภาชนะดังกล่าว เกษตรกรจึงเลิกใช้และยังใช้กระบอกพลาสติกอยู่ จากนั้นได้มีการผลิตกระบอกรอน้ำตาลที่เป็นอลูมิเนียมมาขายในท้องตลาด เกษตรกรก็ซื้อมาใช้อีก ก็มีการแนะนำตากเจ้าหน้าที่ว่ากระบอกอลูมิเนียมน่าจะมีสารปนเปื้อนเพราะความหวานของน้ำตาลกับภาชนะที่เป็นอลูมิเนียมน่าจะทำปฏิกิริยากันและเกิดสารปนเปื้อนได้
ปัจจุบันสมัชชาอาหารปลอดภัยคณะกรรมการสภามนตรีได้ให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตน้ำตาลปลอดสารพิษ โดยการให้ใช้กระบอกรอน้ำตาลเป็นกระบอกแสตนเลส ซึ่งปลอดภัยสารพิษแน่นอน แต่ต้องคอยระวังคนขโมยกระบอกรอน้ำตาลไปขายให้ดีก็แล้วกันเด้อ
( 5 ) กระบวนการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ
การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ และการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะอาดและปลอดภัยจากสารพิษและสารปนเปื้อนก็ต้องดำเนินการควบคุมดูแลแต่ละอุปกรณ์ดังนี้
5.1 เตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว การดูแลควบคุมการป้องกันความสกปรกและปนเปื้อนในน้ำตาลมะพร้าว ได้แก่
- การทำความสะอาดรอบๆ เตาตาลก่อนเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวทุกวันไม่ให้มีฝุ่นละออง
ในขณะเคี่ยวน้ำตาล
- การกองฟืนสำหรับเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารปนเปื้อน ต้องกองฟืนให้เป็น
ระเบียบไม่กองเกะกะและมีฝุ่นละออง และไม่ใช้เชื้อเพลิงที่มีกลิ่นเหม็น เช่น
ยางรถยนต์ หรือวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในขณะเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว
- อุปกรณ์กระชอนกรองน้ำตาล ผ้าที่มีสีขาวมากๆ ต้องซักให้สะอาดและตากให้แห้ง
สนิทอย่าให้มีฝุ่นหรือราขึ้น จะทำให้น้ำตาลมีสารปนเปื้อนได้
- กระทะเคี่ยวน้ำตาลต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาเคี่ยวตาล
- ภาชนะในการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวต้องล้างหรือต้มน้ำฆ่าเชื้อให้สะอาดก่อนนำมาใช้
ทุกครั้ง
5.2 การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารปนเปื้อน
- การแต่งกายของคนเคี่ยวน้ำตาลต้องสะอาด
- ผึ้งและแมลงวันต้องไม่มี ต้องมีมุ้งลวดป้องกันจะดีมาก แต่มีภูมิปัญญาชาวบ้านในการ
ป้องกันผึ้งมาตอมขณะเคี่ยวน้ำตาล คือ สัญชาติญาณของผึ้งจะขยันหากินในตอนเช้า

เวลาเคี่ยวน้ำตาลจะเคี่ยวน้ำตาลประมาณ 10.00 น.เป็นต้นไป ผึ้งจะไม่ค่อยมาทำความ
รำคาญหรือมาทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ เวลาสายๆ และเที่ยวๆ ผึ้งจะกลับเข้ารังเพราะ
อากาศร้อนก็เป็นวิธีป้องกันด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอีกวิธีหนึ่ง
- การทำมุ้งลวดป้องกันบริเวณโรงเคี่ยวน้ำตาล ก็สามารถป้องกันผึ้งได้ดี และถ้าให้ดีต้อง
ป้องกันสัตว์ทึกชนิดได้ด้วยจะดีเช่น นก หนู สุนัข แมว ฯลฯ ด้วยจะดีมากๆ
- ภาชนะในการหยอดน้ำตาลเป็นปึก หรือปี๊บบรรจุน้ำตาลต้องล้างทำความสะอาดก่อน
นำมาใช้บรรจุน้ำตาลมะพร้าว
5.3 บรรจุภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวที่ปลอดภัยสารพิษ
- ต้องบรรจุน้ำตาลมะพร้าวในขณะที่น้ำตาลไม่เย็นจัด
- ต้องมีห้องเก็บน้ำตาลปี๊บที่บรรจุแล้วที่สะอาดและไม่มีแมลง สัตว์ ศัตรูรบกวน
- การบรรจุถุงพลาสติกขนาด ½ กิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัม ให้บรรจุในพลาสติกที่สะอาด
และไม่เกิดสารปนเปื้อนได้ และเก็บไว้ในห้องที่สะอาดก่อนจำหน่าย และการบรรจุควร
ซีลปากถุงพลาสติกให้เรียบร้อย วางเรียงให้เป็นระเบียบ
การจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารพิษ
- ควรปิดฉลากเน้นวัน เดือน ปีที่ผลิต ขนาดบรรจุ ราคาที่แน่นอน และคำแนะนำในการเก็บรักษา และการนำไปใช้ประโยชน์ และแหล่งผลิตพร้อมชื่อยี่ห้อสินค้าที่ชัดเจน
ปัญหาและคำแนะนำการผลิตน้ำตาลปลอดสารพิษ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำในการทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารพิษไว้ในการอบรมสัมมนาการทำน้ำตาลปลอดภัยสารพิษไว้ดังนี้
จังหวัดสมุทรสงคราม มีการประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในระยะหลังกระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าวเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการผลิตไปจากเดิมเป็นหลายรูปแบบ ถ้าเราจะทำน้ำตาลมะพร้าวตามภูมิปัญญาเดิมของเราก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าเราสามารถมีความรู้ที่อธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ว่าทำไมต้องใส่สารฟอกขาว ทำอย่างไรน้ำตาลมะพร้าวจะไม่เยิ้ม สีคล้ำ และนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการทำน้ำตาลปลอดสารพิษที่เราทำอยู่ก็จะยิ่งเป็นการเสริมศักยภาพในการผลิตน้ำตาลมะพร้าวของเราได้อย่างดียิ่งขึ้น
ประเภทน้ำตาลมะพร้าวในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1. น้ำตาลมะพร้าวแท้ ไม่ผสมน้ำตาลทรายและส่วนผสมอื่นๆ เลย (เกรด A)
2. น้ำตาลมะพร้าวแท้ ผสมน้ำตาลทรายในอัตราส่วน เพื่อคงสภาพเป็นก้อนแข็ง (แต่จะผสม น้ำตาลทรายเท่าไร?)
3. น้ำตาลมะพร้าวผสมน้ำตาลทราย สารฟอกสี ใส่แบะแซ กล้วย มันเทศ แป้ง ฟักทอง ฯลฯ
4. น้ำตาลทราย 100% ผสมน้ำ แบะแซ ฯลฯ
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เคยมีการจัดเวทีพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้กับกลุ่มน้ำตาลหลอม เพราะในช่วงดังกล่าวราคาน้ำตาลมะพร้าวแท้ตกต่ำมาก เพราะมีน้ำตาลหลอมออกมาจำหน่ายและราคาถูกกว่าน้ำตาลมะพร้าวแท้ ผู้บริโภคจึงหันไปบริโภคน้ำตาลหลอม เป็นผลให้ราคาน้ำตาลแท้ถูกดึงราคาต่ำลง ในเวทีดังกล่าวก็เกิดเป็นข้อถกเถียงกันว่าจะสามารถเอาผิดกับผู้ผลิตน้ำตาลหลอมได้หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายถ้าผู้ผลิตน้ำตาลหลอมไม่ได้ระบุว่าเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ก็ไม่สามารถเอาผิดได้เพราะข้ออ้างของผู้ผลิตน้ำตาลหลอมที่ว่า “เขาผลิตวัตถุให้ความหวาน ไม่ใช่น้ำตาลมะพร้าว” จึงไม่สามารถเอาผิดโรงหลอมน้ำตาลได้
ดังนั้นเมื่อสมัชชาอาหารปลอดภัยมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมน้ำตาลมะพร้าวแท้ จึงเป็นโอกาสดีของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้ แต่ก็อย่าทอดทิ้งกลุ่มที่ 2 ที่เป็นกลุ่มผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้แต่ผสมน้ำตาลทรายเล็กน้อยเพื่อช่วยคงสภาพก้อนแข็งของน้ำตาลมะพร้าว
วัตถุประสงค์ของการใส่น้ำตาลทรายของเกษตรกรทำน้ำตาลก็เพื่อให้น้ำตาลมะพร้าวคงสภาพเป็นก้อนได้นานไม่คืนตัว เกษตรกรต้องระบุวัตถุประสงค์ของการปนน้ำตาลทรายให้ผู้บริโภคทราบว่าใส่เพื่ออะไร ใส่ปริมาณเท่าไรไม่หลอกผู้บริโภคว่าเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ 100%
เมื่อก่อนผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวรวมกลุ่มกันเรียกร้องให้การจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวต้องมีฉลากและต้องการกำหนดมาตรฐานน้ำตาลมะพร้าวที่มีคุณภาพ โดยได้ดำเนินการไปทำเรื่องส่งไปถึงกระทรวงสาธารณะสุขแล้วแต่ก็มีการพิจารณาว่าถ้าจะให้น้ำตาลมะพร้าวต้องมีฉลากก็จะต้องย้อนมาดูที่โรงงานผลิตน้ำตาลมะพร้าวก็ต้องได้มาตรฐานด้วย ก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวทั้งจังหวัด จึงได้ชะลอกระบวนการดังกล่าวไว้ก่อนจนถึงปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถกำหนดมาตรฐานน้ำตาลมะพร้าวได้
ปัญหาของน้ำตาลมะพร้าวแท้ มีดังนี้
น้ำตาลสดเป็นฟอง หมายถึง น้ำตาลเริ่มจะบูด เกิดเชื้อโรคกินน้ำตาล โดยเกิดขึ้นในช่วงที่อุณหภูมิของอากาศสูงประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส และเชื้อโรคจะแพร่พันธุ์ในช่วงอุณหภูมิดังกล่าวได้ดี และเชื้อโรคก็จะแบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 ตัว 2 เป็น 4 ตัว 4 เป็น 8 ตัว ไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำตาลมะพร้าวเสียเพราะมีเชื้อโรคอยู่ ดังนั้นการเก็บน้ำตาลมะพร้าวจึงต้องเก็บน้ำตาลมะพร้าวในช่วงที่อากาศยังไม่ร้อนมาก จะได้ไม่มีเชื้อโรคในน้ำตาลสด น้ำตาลไม่เกิดฟอง น้ำตาลไม่เสีย และต้องนำน้ำตาลมะพร้าวจากสวนมาต้มเคี่ยวให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรคและน้ำตาลไม่เสีย ใช้เวลาให้เหมาะสม
กระบอกรอน้ำตาลที่เกษตรกรล้างทำความสะอาด ให้ต้มน้ำร้อนนำกระบอกลงไปต้มในน้ำร้อนประมาณ 1 นาที จะช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาศัยในกระบอกได้ แต่ถ้าลวก จุ่มแล้วเอาขึ้น ตามขอบมุมของกระบอกอาจไม่สะอาด การฆ่าเชื้อโรคไม่ทั่วถึง จึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ เมื่อนำไปรอน้ำตาลครั้งต่อไปก็จะทำให้
น้ำตาลมะพร้าวเสียเร็วเพราะมีเชื้อโรคอาศัยอยู่จากการล้างกระบอกไม่สะอาด น้ำตาลสดที่ขึ้นเก็บสาย อากาศร้อน ทำให้เกิดฟอง น้ำตาลเสีย มีกลิ่น เกษตรกรทำตาลจึงใช้ยาซัดฟอกขาวใส่ ยาซัดฟอกสีจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้น้ำตาลเสียได้ จึงทำให้น้ำตาลสดอยู่ได้นาน
ผึ้งตอมงวงตาล เกษตรกรแก้ปัญหาผึ้งตอมงวงตาลตามความเข้าใจของตนเอง โดยใช้ “กาม่า” (DDP) บีบไล่บ้าง ใช้สารเคมีฆ่าแมลงอื่นๆ ฉีดบ้าง จึงทำให้น้ำตาลสดที่ได้มีสารพิษตกค้างมีการใช้ยาฆ่าแมลงบีบไล่ผึ้ง ทำให้เกิดสารตกค้างในกระบอกรอน้ำตาล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเกษตรกรเองและผู้บริโภค
ปัญหาน้ำตาลมะพร้าวมีสีคล้ำ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจึงใช้สารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว สารฟอกขาวมีฤทธิ์เป็นสารกันบูดในตัว การที่เกษตรกรใส่สารฟอกขาวในกระบอกก่อนนำขึ้นไปรอน้ำตาลก็จะทำให้น้ำตาลมะพร้าวไม่เสียง่าย แต่จะเป็นการเพิ่มสารฟอกขาวในน้ำตาลเมื่อนำมาเคี่ยวโดนความร้อนก็จะเกิดเป็นแก็สและทำให้น้ำตาลมะพร้าวมีสีขาว
การใช้สารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าวซึ่งเป็นสารกันบูดในตัวเองด้วยนั้น เมื่อโดนความร้อนจะเกิดแก็สและกัดสีน้ำตาลให้มีสีขาว ซึ่งสารดังกล่าวดังกล่าวจะใช้ในอุตสาหกรรมฟอกมุ้ง ข้อเสียของสารฟอกขาวที่มีปริมาณแก็สมากๆ จะมีฤทธิ์กัดกระเพาะผู้บริโภค โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หืดหอบ เมื่อสัมผัสกับสารฟอกขาวทำให้หลอดลมหดเกร็ง หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ จึงเป็นที่มาของการให้ความสนใจกับน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารฟอกสีและมีการตรวจสอบการใช้สารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าวมากขึ้น
ลักษณะของสารฟอกขาว มี 2 ชนิด คือ
1. ไฮโดรซัลไฟต์ (ตราสิงห์แดง) ห้ามใช้กับการฟอกขาวน้ำตาล เพราะเขาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกสีมุ้งและเครื่องหนัง
2. โซเดียมไบซัลไฟต์ , โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ หรือ โปรแตสเซียมไบซัลไฟต์ , โปรแตส เซียมเมตาไบซัลไฟต์ (ตราสิงห์เขียว) ใช้ได้
ซึ่งที่ผ่านมามีการใส่สารฟอกขาวใส่ในน้ำตาล เมื่อนำไปตรวจก็พบสารตกค้างในน้ำตาลมะพร้าวในหลายตัวอย่าง มีทั้งกลุ่มที่ใช้สารฟอกขาวที่ใช้ได้แต่ใส่ในปริมาณมาก และอีกกลุ่มที่ใช้สารฟอกขาวแบบห้ามใช้ แต่ใส่ในปริมาณน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ปริมาณการใช้สารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว คือ น้ำตาลสด 2 ปี๊บ ให้ใส่สารฟอกขาวได้ไม่เกิน 1 กรัม เมื่อตรวจก็จะพบสารตกค้างในน้ำตาลมะพร้าว 40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นอันตราย ถ้าใช้เกิน 1 กรัม
ก็จะพบสารตกค้างเกิน 40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานน้ำตาลมะพร้าวอาจไม่ได้กำหนดว่าไม่ให้มีสารฟอกขาวตกค้างในน้ำตาลเลย ให้ใช้ได้แต่อย่าให้เกินมาตรฐาน และการใส่สารฟอกขาวไม่ควรใส่ในช่วงก่อนต้มเคี่ยวน้ำตาลสด เพราะสารฟอกขาวเมื่อโดนความร้อนสารฟอกขาวก็จะระเหยกลายเป็นแก็ส
หมดไม้เกิดประโยชน์อะไร ให้ใส่ตอนยกลงจากเตาในช่วงระหว่างที่กวนเป็นน้ำตาลแห้ง
น้ำตาลมะพร้าวมีเยิ้มคืนตัว เพราะอุณหภูมิของบ้านเราเป็นเมืองร้อนจึงเกิดการเยิ้ม คืนตัว เหลว เกษตรกรจึงเจือปนน้ำตาลทรายเพื่อให้น้ำตาลมะพร้าวแข็งอยู่ตัวได้นาน แต่ปริมาณการใส่น้ำตาลทรายในน้ำตาลมะพร้าวเท่าไรจึงจะทำให้คงรสชาติของน้ำตาลมะพร้าวไว้ได้ จึงมีนักวิจัยนำน้ำตาลมะพร้าวไปวิจัยและกำหนดมาตรฐานน้ำตาลมะพร้าวแท้ไว้ดังนี้ (น้ำตาลมะพร้าวสด 2 ปี๊บ ให้ใส่น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม) ถ้าใส่น้ำตาลทรายเกิน 2 กิโลกรัมต่อน้ำตาลสด 2 ปี๊บ จะกลายเป็นน้ำตาลหลอมทันที เพราะรสชาติจะเปลี่ยนไป
ถ้าน้ำตาลมะพร้าวอยู่ในสภาพอากาศเย็นหรือเย็นจัดจะช่วยรักษาสภาพน้ำตาลมะพร้าวให้คงตัว แข็ง ไม่เยิ้ม เกษตรกรจึงต้องคิดหาวิธีการเก็บรักษาน้ำตาลหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวให้คงสภาพได้นาน ในอดีตเกษตรกรทำน้ำตาลจะหยอดน้ำตาลใส่ในหม้อดินน้ำตาลมะพร้าวจะคงสภาพได้นาน เพราะหม้อดินจะมีลักษณะไม่เก็บความร้อน ละบายอากาศได้ดี จึงสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่วิจัยไว้ว่าถุงพลาสติกใสแบบถุงร้อนจะทำให้น้ำตาลมะพร้าวสีคล้ำเร็วแต่จะเหลวช้าเพราะถุงร้อนมีลักษณะบางละบายความร้อนได้ดี ส่วนน้ำตาลที่บรรจุในถุงพลาสติกหนาแบบสุญญากาศจะทำให้น้ำตาลสีคล้ำช้าแต่เหลวเร็วเพราะละบายความร้อนได้ไม่ดี
ดังนั้น การสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคในเรื่องของน้ำตาลมะพร้าวโดยทำให้ผู้บริโภคทราบว่าลักษณะของน้ำตาลมะพร้าวแท้ต้องเป็นอย่างไร และมีกลุ่มที่ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้อยู่ที่ไหนบ้าง มีสถานที่ติดต่อได้ หาซื้อได้สะดวก
การตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าวหาสารซอกขาว
คุณจิราภา เศรษฐจินตนิน นักวิชาการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้คำแนะนำในการตรวจสอบคุณภาพน้ำตาลที่ปลอดภัยจากสารฟอกสีไว้ดังนี้
ขั้นตอนวิธีการ ตรวจหาสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว
1. ให้เกษตรกรผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวทั้ง 6 กลุ่ม นำตัวอย่างน้ำตาลมะพร้าวของตนเองมากลุ่มละ 1 ก้อน หรือ 1 ขีด
2. ละลายน้ำตาลมะพร้าวกับน้ำสะอาดในแก้วทดลอง หยดสารทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์
(สารฟอกขาว) ตรวจหาสารตกค้าง 1 หยด
3. คนให้เข้ากัน ถ้าสีของน้ำตาลมะพร้าวที่ออกมาเป็นสีฟ้าหรือเขียวแสดงว่าน้ำตาลมะพร้าวนั้นๆ
ปลอดภัยจากสารพิษ ถ้าสีของน้ำตาลมะพร้าวเป็นสีขุ่น คล้ำ หรือสีดำ แสดงว่าน้ำตาลมะพร้าวนั้นๆ มีสารพิษตกค้าง ไม่ควรรับประทาน
ถ้าเกษตรกรสนใจจะตรวจสอบสารฟอกขาวที่จะใช้กับน้ำตาลมะพร้าวว่าปลอดภัยหรือไม่ให้ติดต่อขอสารทดสอบได้ที่สมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม
บทสรุปและแหล่งเรียนรู้ของการทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดสารพิษ
การทำน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษจังหวัดสมุทรสงครามไม่ได้มอบให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ แต่ต้องมีการบูรณาการกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งผลของการดำเนินการทำน้ำตาลปลอดภัยสารพิษก็จะมีขั้นตอนต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานจะต้องเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำและเชื่อมโยงกันไปสู่กระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าวปลอดภัยสารพิษ ได้แก่
กระบวนการปลูกมะพร้าว การดูแลพัฒนาผลผลิตน้ำตาลมะพร้าว จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกษตรกรหรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมให้คำแนะนำและให้เห็นความสำคัญของกระบวนการผลิตน้ำตาลปลอดภัยสารพิษ ทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการรักษาสุขภาพของเกษตรผู้ผลิตและสุขภาพของผู้บริโภค ตลอดจนสามารถเพิ่มผลผลิตเพิ่มคุณค่าของน้ำตาลมะพร้าวให้สะอาดปลอดภัย ส่งผลให้มีการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรผู้ทำน้ำตาลมะพร้าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญได้ทำบุญในการสร้างอาหารปลอดภัยให้คนมีสุขภาพดีทั่วหน้า สมัชชาอาหารปลอดภัยจังหวัดสมุทรสงครามเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้การสนับสนุนงบประมาณสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยของจังหวัดสมุทรสงครามได้จริง มีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า สร้างปัญญาแก่ผู้ผลิต สร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค เป็นโชคดีของชาวสมุทรสงคราม
หน่วยงานสาธารณะสุขอำเภอและจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์กับปัญหาโรคภัยไขเจ็บของประชาชน เพราะทุกหน่วยงานคอยเฝ้าระวังช่วยกันตรวจสอบคุณภาพน้ำตาลปลอดภัยสารพิษ ลดปัญหาอาหารปนเปื้อน เกิดสารพิษได้อย่างจริงจัง ทำให้ผู้ผลิตมีความรู้ในการผลิตอาหารปลอดภัยสารพิษทุกขั้นตอน เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สร้างใจของผู้ผลิตสร้างความปลอดภัยให้ชีวิตของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้กับคนไทยทุกคนที่ได้ผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ดอกกุหลาบ











กุหลาบ




เป็นไม้ตัดดอกที่มีการปลูกเป็นการค้ากันแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกที่มีการซื้อขาย เป็นอันดับหนึ่งในตลาดประมูลอัลสเมีย ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดประมูลไม้ดอก ที่ใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อ พ.ศ. 2542 มีการซื้อขายถึง 1,672 ล้านดอก และมักจะมียอดขายสูงสุดในประเทศต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่น ๆ โดยประเทศที่ผลิตกุหลาบรายใหญ่ของโลกได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ อิสราเอล เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกุหลาบตัดดอกประมาณ 5,500 ไร่ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่
เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี มีการขยายตัวของพื้นที่มากที่สุดใน อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันประมาณว่ามีพื้นที่การผลิตถึง 3,000 ไร่ เนื่องจาก อ.พบพระ มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม พื้นที่ไม่สูงชัน และค่าจ้างแรงงานต่ำ (แรงงานต่างชาติ) การผลิตกุหลาบในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ การผลิตกุหลาบในเชิงปริมาณ และการผลิตกุหลาบเชิงคุณภาพ การผลิตกุหลาบเชิงปริมาณ หมายถึงการปลูกกุหลาบในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือปลูกในพื้นที่ราบ ซึ่งจะให้ผลผลิตมีปริมาณมาก แต่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เช่น ดอกและก้านมีขนาดเล็ก มีตำหนิจากโรคและแมลง หรือการขนส่ง อายุการปักแจกันสั้น ทำให้ราคาต่ำ การผลิตชนิดนี้ต้องอาศัยการผลิตในปริมาณมากเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ส่วนการผลิตกุหลาบในเชิงคุณภาพ นิยมปลูกในเขตภาคเหนือ และบนที่สูง โดยปลูกกุหลาบภายใต้โรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่จำกัด มีการจัดการการผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดี ใช้แรงงานที่ชำนาญ ทำให้กุหลาบที่ได้มีคุณภาพดี และปักแจกันได้นาน ตลาดของกุหลาบคุณภาพปานกลางถึงต่ำ (ตลาดล่าง) ในปัจจุบันถึงขั้นอิ่มตัว เกษตรกรขายได้ราคาต่ำมาก ส่วนตลาดของกุหลาบที่มีคุณภาพสูง (ตลาดบน) ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ และขาดความต่อเนื่อง ทำให้ยังต้องนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย เป็นต้น
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตกุหลาบคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง หากแต่จะต้องผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม คือพื้นที่สูงมากกว่า 800 เมตรเหนือ
ระดับน้ำทะเล หากปลูกในที่ราบจะได้คุณภาพดีในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นการผลิตกุหลาบมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่การผลิตบนที่สูงมากขึ้น
ประเภท
กุหลาบสามารถ
จำแนกได้หลายแบบ เช่น จำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต ขนาดดอก สีดอก ความสูงต้น และจำแนก ตามลักษณะของดอก เป็นต้น ในที่นี้ได้จำแนกกุหลาบเฉพาะกุหลาบตัดดอกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ทางการค้าในตลาดโลกเป็น 5 ประเภทดังนี้
กุหลาบดอกใหญ่ หรือ กุหลาบก้านยาว (large flowered or long stemmed roses) กุหลาบประเภทนี้เป็นกุหลาบไฮบริดที (Hybrid Tea: HT) ที่มีดอกใหญ่ แต่การดูแลรักษายาก
ผลผลิตต่ำ (100-150 ดอก/ตร.ม./ปี) และอายุการปักแจกันสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกุหลาบ Floribunda มักมีก้านยาวระหว่าง 50-120 เซนติเมตร กุหลาบดอกใหญ่ได้รับความนิยมมากใน สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ซิมบับเว โมร๊อกโก ฝรั่งเศส และ อิตาลี พันธุ์กุหลาบดอกใหญ่ที่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศได้แก่ พันธุ์ เวก้า (Vega: แดง) , มาดาม เดลบา (Madam Delbard) , วีซ่า (Visa: แดง) , โรเท โรเซ (Rote Rose: แดง) , คารล์ เรด (Carl Red: แดง) , โซเนีย (Sonia: ชมพูส้ม) , เฟิร์สเรด (First Red: แดง) , โพรฟิตา (Prophyta: ปูนแห้ง) , บิอังกา (Bianca: ขาว) , โนเบลส (Noblesse: ชมพูส้ม) และ แกรนด์ กาลา (Grand Gala: แดง) เป็นต้น
กุหลาบดอกกลาง หรือ กุหลาบก้านขนาดกลาง (medium flowered or medium stemmed roses) เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะระหว่างกุหลาบดอกใหญ่ และเล็ก เป็นกุหลาบ Hybrid Tea ให้ผลผลิตสูง (150-220 ดอก/ตร.ม./ปี) อายุการปักแจกันยาว และทนการขนส่งได้ดี ความยาวก้านระหว่าง 40-60 ซม. แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี อิสราเอล ซิมบับเว เคนยา พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ ซาช่า (Sacha: แดง) , เมอร์ซิเดส (Mercedes: แดง) , เกเบรียล (Gabrielle: แดงสด) , คิสส์ (Kiss: ชมพู) , โกลเด้นทาม (Goldentime: เหลือง) , ซาฟารี (Safari: ส้ม) และ ซูวีเนีย (Souvenir: ม่วง) เป็นต้น
กุหลาบดอกช่อ เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ให้ผลผลิตต่ำต่อพื้นที่ (120-160 ดอกต่อตารางเมตรต่อปี) ความยาวก้านระหว่าง 40-70 ซม. มักมี 4-5 ดอกในหนึ่งช่อ และยังมีตลาดจำกัดอยู่ เช่นพันธุ์ เอวีลีน (Evelien: ชมพู) เดียดีม (Diadeem: ชมพู) และ นิกิต้า เป็นต้น
กุหลาบหนู (miniature roses) มีขนาดเล็กหรือแคระโดยธรรมชาติ ความสูงของทรงพุ่มไม่เกิน 1 ฟุตให้ผลผลิตสูง 450-550 ดอก/ตร.ม./ปี มีความยาวก้านดอกระหว่าง 20-30 ซม. ยังมีตลาดจำกัดอยู่ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และอิตาลี
สายพันธุ์
การคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันจะคำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ มากกว่าการที่ดอกสวยสะดุดตาแต่เมื่อซื้อไปก็เหี่ยวทันที ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันมักมีข้อพิจารณาดังนี้
มีผลผลิตสูง ปัจจุบันกุหลาบดอกเล็กให้ผลผลิตสูงถึง 300 ดอก/ตร.ม./ปี
อายุการปักแจกันนาน พันธุ์กุหลาบในสมัยทศวรรษที่แล้วจะบานได้เพียง 5-6 วัน ปัจจุบันกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ สามารถปานได้ทนถึง 16 วัน
กุหลาบที่สามารถดูดน้ำได้ดี
กุหลาบที่ไม่มีหนามหรือหนามน้อยเพื่อความสะดวกในการจัดการ
สี สีแดงยังคงครองตลาดอยู่ รองลงมาคือ
สีชมพู สีอ่อนเย็นตา และสองสีในดอกเดียวกัน
กลิ่น เป็นที่เสียดายที่กุหลาบกลิ่นหอมมักไม่ทน แต่ก็มีการผสมพันธุ์กุหลาบตัดดอกกลิ่นหอมบ้าง สำหรับตลาดท้องถิ่น
มีความต้านทานโรค และทนความเสียหายจากการจัดการ
สูง

การขยายพันธุ์กุหลาบ
กุหลาบ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดชำ การตอน การติดตา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นกุหลาบที่มีระบบรากที่แข็งแรง และให้ผลผลิตสูงเกษตรกรมักนิยมกุหลาบพันธุ์ดีที่ติดตาบนตอกุหลาบป่า การปลูกและการจัดการ
การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ
การดูแลกุหลาบระยะแรกหลังปลูก เมื่อตากุหลาบเริ่มแตก ควรส่งเสริมให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และก้านยาว ซึ่งทำได้ด้วยการเด็ดยอดเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย) ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบ ที่ให้ดอกมีคุณภาพดี
การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์เพื่อการตัดดอก และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง
(water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตัดสูงและต่ำ
ระบบนิเวศ
ระบบนิเวศ หมายถึง หน่วยของความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่แหล่งใดแหล่งหนึ่ง มาจากรากศัพท์ในภาษากรีก 2 คำ คือ Oikos แปลว่า บ้าน, ที่อยู่อาศัย Logos แปลว่า เหตุผล, ความคิด
ส่วนประกอบ
จะประกอบด้วย
ผู้ผลิต คือ พืช
ผู้บริโภค คือ ผู้กิน การกินจะแบ่งเป็น 4 อย่าง
กินพืช เช่น โค กระบือ
กินสัตว์ เช่น เสือ สิงโต

กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น มนุษย์ ไก่
กินซาก เช่น แร้ง มด
ผู้ย่อยสลายอินทรียสาร คือ พวกแบคทีเรีย
ระบบนิเวศ
สิ่งแวดล้อม คือ สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบใหญ่ คือ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และอีกองค์ประกอบหนึ่ง คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แสง ฯลฯ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ สิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม เป็นต้น
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแหล่งน้ำนี้ เช่น มีปริมาณธาตุไนโตรเจนมากเกินไปก็จะมีผลทำให้พืชน้ำหลายชนิดเจริญเติบโตขยายพันธุ์มากและรวดเร็ว ในระยะแรกๆ สัตว์น้ำที่กินพืชเป็นอาหารจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนในที่สุดพืชที่เป็นแหล่งอาหารจะลดปริมาณลง ทำให้สัตว์กินพืชลดจำนวนลง และมีผลทำให้สัตว์กินสัตว์ลดจำนวนตามไปด้วย เนื่องจากอาหารไม่เพียงพอ
ในขณะที่สัตว์และพืชเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็จะเกิดความแออัด จะมีของเสียถ่ายสู่แหล่งน้ำมากขึ้น ทำให้คุณภาพของแหล่งน้ำนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการดำรงชีพของสัตว์และพืชบางชนิด แต่ไม่เหมาะสมสำหรับสัตว์และพืชอีกหลายชนิด ในแหล่งน้ำจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันภายในอย่างซับซ้อน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยต่างๆในแหล่งน้ำมีการควบคุมตามธรรมชาติที่ทำให้จำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตอยู่ในภาวะสมดุลได้